สารสกัดจาก “หญ้าหวาน” มีความปลอดภัยในทุก ๆ กรณี ซึ่งการใช้หญ้าหวานอย่างปลอดภัย คือ ประมาณ 1 – 2 ใบต่อเครื่องดื่ม 1 ถ้วย ถือเป็นปริมาณที่เหมาะสมและไม่หวานมากจนเกินไป
ชื่อสามัญ Stevia (สตีเวีย)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Stevia rebaudiana (Bertoni) Bertoni (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Eupatorium rebaudianum Bertoni, Stevia rebaudiana (Bertoni) Hemsl.) จัดอยู่ในวงศ์ทานตะวัน (ASTERACEAE หรือ COMPOSITAE) เป็นพืชพื้นเมืองของประเทศบราซิลและทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศปารากวัยในทวีปอเมริกาใต้
ทำไมถึงเรียกว่า "หญ้าหวาน"
นั่นเป็นเพราะว่าในส่วนของใบหญ้าหวานนั้นมีความหวานมากกว่าน้ำตาลถึง 10-15 เท่า แต่เป็นความหวานที่ไม่ก่อให้เกิดพลังงาน และที่สำคัญก็คือสารสกัดที่ได้จากหญ้าหวานที่มีชื่อว่า สตีวิโอไซด์ (Stevioside) นั้นเป็นสารที่ให้ความหวานมากกว่าน้ำตาลถึง 200-300 เท่า และด้วยความที่มันมีคุณสมบัติพิเศษอย่างนี้ หญ้าหวานจึงเป็นพืชที่กำลังได้รับความสนใจจากผู้รักสุขภาพเป็นอย่างมาก โดยได้มีการนำไปใช้ในด้านอุตสาหกรรมต่าง ๆ อย่างเครื่องดื่ม ยาสมุนไพร และด้านการแพทย์
สำหรับในประเทศไทย หญ้าหวาน ได้เริ่มเข้ามามีบทบาทในภายหลัง และได้มีการนำเข้ามาปลูกในช่วงปี พ.ศ.2518 โดยได้มีการนำมาเพาะปลูกในภาคเหนือ เนื่องจากพืชนิดนี้จะชอบอากาศที่ค่อนข้างเย็น และพืชชนิดนี้จะเจริญเติบโตได้เป็นอย่างดีเมื่อเพาะปลูกในพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 600-700 เมตร
หญ้าหวานสมุนไพรอันตราย สู่สมุนไพรเพื่อสุขภาพ
“หญ้าหวาน” มีการใช้กันอย่างกว้างขวางยาวนานโดยนักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกาใต้ จนกระทั่งต่อมาได้มีผลงานวิจัยทางด้านลบของหญ้าหวานออกมา โดยนักวิทยาศาสตร์ที่ชื่อ John M. Pezzuto และคณะ ระบุว่าหญ้าหวานนั้นอันตราย โดยออกมาประกาศว่าหญ้าชนิดนี้ไม่ปลอดภัยและห้ามใช้เป็นสารปรุงแต่งในอาหาร จึงส่งผลกระทบเป็นวงกว้างไปทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยด้วย
ต่อมา มีนักวิทยาศาสตร์ที่ชื่อว่า Emily Procinska และคณะ ได้ออกมาค้นคว้ารายงานวิจัยของ John M. Pezzuto ว่าอาจมีข้อผิดพลาด ซึ่งก็ได้ทำการทดลองซ้ำอยู่หลายครั้ง และต่อมาได้มีการตรวจสอบความเป็นพิษพบว่า งานวิจัยส่วนมากระบุว่าหญ้าหวานไม่มีพิษ และไม่มีหลักฐานใด ๆ ระบุว่าหญ้าชนิดนี้อาจจะทำให้เกิดข้อบกพร่องหรือเกิดโรคมะเร็งแต่อย่างใด
และในที่สุดเมื่อปี ค.ศ.2009 ที่ผ่านมา FDA สหรัฐฯ ก็ได้มีการประกาศว่าหญ้าหวานเป็นพืชที่ปลอดภัย และให้การยอมรับว่าเป็น GRAS (Generally Recognized As Safe) จากผลงานวิจัยของทีมวิจัยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ข้อสรุปว่า สารสกัดจากหญ้าหวานมีความปลอดภัยในทุก ๆ กรณี
ในปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ก็ได้มีการขึ้นทะเบียนให้สามารถใช้สารสตีวิโอไซด์
เพื่อการบริโภคแทนน้ำตาลได้ เพราะมีความปลอดภัยสูง มีพิษเฉียบพลันต่ำ ไม่เป็นอันตรายหรือมีผลข้างเคียงใด ๆ และที่สำคัญหญ้าหวานยังจัดให้อยู่ในหมวดพืชสมุนไพรชนิดหนึ่งอีกด้วย
ลักษณะของหญ้าหวาน
- ต้นหญ้าหวาน เป็นพืชล้มลุกอายุประมาณ 3 ปี ลักษณะเป็นพุ่มเตี้ย มีลำต้นแข็งและกลม ลักษณะทั่วไปคล้ายต้นโหระพา
- ใบหญ้าหวาน ใบเป็นใบเดี่ยว ลักษณะของใบคล้ายรูปหอกหัวกลับ ขอบใบหยักคล้ายฟันเลื่อย มีรสหวานมาก ใช้แทนน้ำตาลได้
- ดอกหญ้าหวาน ออกดอกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง ดอกมีสีขาว ดอกเล็ก กลีบเป็นรูปไข่สีขาวเล็กมาก มีเกสรตัวผู้เป็นสีขาวงอไปมา ยื่นออกมาเล็กน้อย
สรรพคุณของหญ้าหวาน
- สมุนไพรหญ้าหวานช่วยเพิ่มกำลังและทำให้รู้สึกกระฉับกระเฉง
- ช่วยให้เลือดไปเลี้ยงสมองมากขึ้น
- ช่วยลดไขมันในเลือดสูง โดยเฉพาะกับการรักษาผู้ป่วยโรคเบาหวาน เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
- ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง และโรคอ้วน
- ช่วยบำรุงตับ
- ช่วยสมานแผลทั้งภายในและภายนอก
ประโยชน์ของหญ้าหวาน
- ช่วยเพิ่มการรับประทานอาหารและช่วยลดความขมในอาหารได้
- ใช้เป็นสารให้ความหวานแทนน้ำตาล โดยไม่ทำให้น้ำตาลในเลือดสูง
- หญ้าหวานให้ความหวานเหมือนน้ำตาล แต่ไม่ให้พลังงาน รับประทานเท่าไหร่ก็ไม่อ้วน จึงช่วยในการควบคุมน้ำหนักได้เป็นอย่างดี
- มีการนำหญ้าหวานไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปต่าง ๆ โดยจะนิยมนำมาชงเป็นชาดื่ม รองลงมาก็
คือ การนำมาต้มและเคี้ยว แต่จะไม่ค่อยนิยมนำมาบริโภคในแบบผสมกับอาหาร - ในอุตสาหกรรมอาหาร สารสกัดจากหญ้าหวานถือว่ามีข้อดีหลายอย่าง และที่สำคัญก็คือ จะไม่ถูกดูดซึมในระบบย่อยอาหาร จึงเหมาะอย่างมากสำหรับผู้ที่เป็นโรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิต และโรคหัวใจ
- สารสตีวิโอไซด์ นอกจากจะใช้ในอาหารและเครื่องดื่มแล้ว ปัจจุบันยังมีการนำไปใช้แทนน้ำตาลในการผลิต
ยาสีฟันอีกด้วย
หญ้าหวาน อันตรายหรือไม่?
เคยมีรายงานระบุว่าชาวปารากวัยกินหญ้าหวานแล้วทำให้เป็นหมันหรือไปลดจำนวนของอสุจิลง จนทำให้ประเทศไทยได้ใช้ประเด็นนี้ในการอ้างไม่อนุญาตให้มีการใช้หญ้าหวาน ซึ่งจากรายงานต่าง ๆ ที่ประชุมได้สรุปข้อมูลจากรายงานต่าง ๆ และได้มีการยืนยันว่าสารสกัดดังกล่าว เมื่อป้อนในหนูทดลองถึง 3 ชั่วอายุ จำนวน 3 รุ่น ไม่พบการก่อการกลายพันธุ์แต่อย่างใด แสดงว่าหนูทดลองยังคงขยายพันธุ์ได้เป็นปกติ และในญี่ปุ่นก็ไม่ได้มีการห้ามใช้หรือกลัวประเด็นนี้ เพราะมีการใช้มายาวนานถึง 17 ปี โดยไม่พบว่ามีแนวโน้มความเป็นพิษเช่นกัน
ที่มา: https://medthai.com
รูปภาพ : https://www.freepik.com , https://pixabay.com
แชร์บทความนี้