“กระเจี๊ยบแดง” มีสรรพคุณลดไขมันในเลือด และยังมีสรรพคุณช่วยลดความดันสูง รวมทั้งลดความเหนียวข้นของเลือดลง ทำให้การไหลเวียนของโลหิตทั่วร่างกายดีขึ้น ซึ่งก็ช่วยรักษาเส้นเลือดขอดให้เบาลงได้ด้วย ถ้าบริโภคกระเจี๊ยบแดง ต่อเนื่องเป็นเวลา 1 เดือนสามารถลดไขมันในเส้นเลือด น้ำตาลในเลือด ไขมัน คอเลสเตอรอลได้ ส่วนน้ำกระเจี๊ยบแดงยังสามารถรับประทานเป็นยาลดน้ำหนักได้ แต่ทั้งนี้อาจทำให้เกิดอาการท้องเสียได้ในผู้ป่วยบางราย เพราะมีฤทธิ์เป็นยาระบาย
ชื่อวิทยาศาสตร์ Hibiscus sabdariffa Linn. จัดอยู่ในวงศ์ชบา (MALVACEAE)
กระเจี๊ยบแดง ภาษาอังกฤษ Rosella, Jamaican sorel, Roselle, Rozelle, Sorrel, Red sorrel, Kharkade, Karkade, Vinuela, Cabitutu
ผลกระเจี๊ยบแดง มีลักษณะผลเป็นรูปรีและมีปลายแหลม ผลมีความยาวประมาณ 2.5 เซนติเมตร ผลอ่อนมีสีเขียว ผลแก่จะแห้งแตกเป็น 5 แฉก ในผลมีเมล็ดสีน้ำตาล ลักษณะคล้ายรูปไตอยู่จำนวนมาก ประมาณ 30-35 เมล็ดต่อผล ส่วนผลยังมีกลีบเลี้ยงหนาสีแดงฉ่ำน้ำหุ้มอยู่ เราจะเรียกส่วนนี้ว่ากลีบกระเจี๊ยบหรือกลีบรองดอก หรือที่คนทั่วไปเข้าใจว่าเป็นดอกกระเจี๊ยบนั่นเอง
สรรพคุณของกระเจี๊ยบแดง
- ดอกกระเจี๊ยบแดง ช่วยละลายไขมันในเส้นเลือด
- เมล็ดใช้เป็นยาบำรุงธาตุ บำรุงกำลัง
- ช่วยแก้อาการอ่อนเพลีย ช่วยรักษาโรคเบาหวาน ช่วยลดความดันและบำรุงโลหิต รวมถึงมีฤทธิ์ช่วยขับปัสสาวะ
- ช่วยแก้เส้นเลือดตีบตัน ช่วยรักษาเส้นเลือดให้แข็งแรงและอ่อนนิ่มยืดหยุ่นได้ดี ทำให้ความเหนียวข้นของเลือดลดลง
- ช่วยแก้อาการคอแห้ง กระหายน้ำ แก้อาการร้อนใน ลดอุณหภูมิในร่างกาย
- ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง ช่วยป้องกันหวัด อาการไอ ลดไข้ได้
- ช่วยรักษาและป้องกันโรคเลือดออกตามไรฟัน เนื่องจากมีวิตามินซีในปริมาณที่สูงอยู่พอสมควร
- ช่วยในการย่อยอาหาร ใช้เป็นยาระบาย ช่วยหล่อลื่นลำไส้ ทำให้อุจจาระนิ่มขึ้น
- ช่วยรักษาโรค แผลในกระเพาะ และลำไส้อักเสบ ด้วยการใช้ผลแห้งนำมาบดเป็นผง นอกจากจะรักษาแล้วยังสามารถป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหารได้อีกด้วย
- ใบกระเจี๊ยบแดง มีสรรพคุณช่วยแก้โรคพยาธิตัวจี๊ด และสามารถพอกฝีหรือใช้ต้มน้ำเพื่อใช้ล้างแผลได้
- ช่วยรักษาโรคทางเดินปัสสาวะ นิ่วในไต แก้โรคนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ ยับยั้งเชื้อแบคทีเรียในทางเดินปัสสาวะ ลดอาการกระเพาะปัสสาวะอักเสบ
- ช่วยลดอาการบวม ช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ยับยั้งเชื้อราอะฟลาท็อกซิน ไวรัสเริม ยับยั้งเนื้องอก ช่วยขับกรดยูริก คล้ายกล้ามเนื้อเรียบ และลดความเจ็บปวด
- สารสกัดจากลีบดอกของกระเจี๊ยบแดงมีฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจนในเพศหญิง จึงเชื่อว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อสตรีวัยทองไม่มากก็น้อย
- ช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็ง และอาจช่วยชะลอการลุกลามของมะเร็งบางชนิดได้
- ในอียิปต์มีการใช้ทั้งต้นของกระเจี๊ยบแดง มาต้มกินเพื่อเป็นยารักษาโรคหัวใจและโรคประสาท และยังนำมาต้มเป็นยาลดน้ำหนัก เนื่องจากเป็นยาระบายและสามารถฆ่าเชื้อในลำไส้ได้
ประโยชน์ของกระเจี๊ยบแดง
- กระเจี๊ยบมีสารแอนโทไซยานินและสารโพลีฟีนอล ที่มีฤทธิ์ต่อต้านอนุมูลอิสระ ช่วยป้องกันโรคมะเร็ง ช่วยชะลอความแก่ และช่วยให้เส้นเลือดอ่อนนิ่มได้
- กระเจี๊ยบใช้ทำเป็นน้ำดื่มที่ช่วยทำให้ร่างกายสดชื่น เนื่องจากมีกรดซิตริกอยู่ด้วยน้ำกระเจี๊ยบแดง
- ใบอ่อนของกระเจี๊ยบใช้รับประทานเป็นผักได้ หรือจะนำมาใช้ทำแกงส้มก็ได้ ให้รสเปรี้ยวกำลังดี และยังมีวิตามินเอสูง ที่ช่วยบำรุงสายตาอีกด้วย
- กลีบเลี้ยงผลและกลีบดอกอุดมไปด้วยแคลเซียมที่ช่วยบำรุงกระดูกและฟันให้แข็งแรง
- กระเจี๊ยบแดงจัดเป็นพืชส่งออก โดยนำไปใช้เป็นส่วนผสมสำคัญสำหรับ Herbal tea ที่ใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร ใช้บริโภคภายในประเทศ ใช้ทำเป็นผลิตภัณฑ์ได้อย่างหลากหลาย
- น้ำต้มของดอกแห้งจะมีกรดผลไม้หรือ AHA อยู่หลายชนิดในปริมาณสูง จึงมีการนำมาผลิตเป็นเครื่องสำอางประเภทครีมหน้าใส
- เมนูดอกกระเจี๊ยบแดง เช่น แกงส้มดอกกระเจี๊ยบ ยำดอกกระเจี๊ยบ แยมดอกกระเจี๊ยบ ดอกกระเจี๊ยบแช่อิ่ม กระเจี๊ยบกวน ชากระเจี๊ยบแดง น้ำกระเจี๊ยบแดง เป็นต้น
- ในแอฟริกาใต้มีการใช้น้ำมันจากเมล็ดเป็นยารักษาแผลให้อูฐ
- นอกจากนี้ลำต้นของกระเจี๊ยบแดงยังสามารถนำมาทำเป็นเชือกปอได้อีกด้วย
โทษของกระเจี๊ยบแดง
สำหรับผู้ป่วยบางรายกระเจี๊ยบแดงอาจทำให้เกิดอาการท้องเสียได้ เพราะมีฤทธิ์เป็นยาระบาย ในน้ำกระเจี๊ยบมีฤทธิ์เป็นยาขับปัสสาวะ แม้ว่าจะมีความเป็นพิษต่ำมาก แต่ก็ไม่ควรดื่มในปริมาณเข้มข้นและติดต่อกันนานๆ เพราะจะไม่เกิดผลดีต่อสุขภาพ
ที่มา : https://medthai.com/กระเจี๊ยบแดง
แชร์บทความนี้